อัปเดตความรู้เกี่ยวกับไวรัสสายพันธุ์ ย่อยที่ระบาดทั่วโลก ปุจฉาสำคัญเหตุไฉนไวรัสโควิดสายพันธุ์ “XBB.x” และ “BQ.1.1” ทำไมวิ่งนำตัวอื่นๆ?
งานวิจัยล่าสุดจากทีมงานเนเธอร์แลนด์ลงใน The Lancet Microbe เมื่อกลางเดือนที่ผ่านมาชี้ให้เห็นว่า XBB.1 และ BQ.1.1 นั้นมีการกลายพันธุ์ไปจากไวรัสโควิดดั้งเดิมที่เคยระบาดมาก่อนไปมาก
จึงไม่แปลกใจที่มีลักษณะการดื้อต่อภูมิคุ้มกันทั้งจากวัคซีนและจากที่เคยติดเชื้อมาก่อนอย่างมาก และเป็นเหตุผลสำคัญเรื่องหนึ่งที่ทำให้เกิดการติดเชื้อกันในคนจำนวนมาก ทั้ง “ติดเชื้อใหม่” และ “ติดซ้ำ”
กรณี “BQ.1.1 ที่มีการระบาดเยอะในอเมริกาและยุโรป เหตุใดจึงกำลังโดนแย่งพื้นที่จาก XBB.1.5”
ข้อมูลจาก UKHSA (11 มกราคม 2566) ทำการวิเคราะห์ให้เห็นว่าเมื่อเทียบกันตัวต่อตัวแล้ว XBB.1.5 นั้นมีอัตราการขยายตัวของการระบาดสูงกว่า BQ.1.1 อย่างมากราว 40%
นอกจากนี้ที่ต้องจับตามอง เพราะ…มาแบบเงียบๆในหลายประเทศแถบยุโรปคือ CH.1.1 ซึ่งมีอัตราการขยายตัวของการระบาดสูงกว่า BQ.1.1 เช่นกัน แต่ยังน้อยกว่า XBB.1.5
ในขณะที่สายพันธุ์อื่นๆที่ระบาดเยอะในบางประเทศ เช่น BF.7 ในจีน อัตราการขยายตัวของการระบาดน้อยกว่า BQ.1.1 จึงเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่อธิบายให้เราเข้าใจปรากฏการณ์ระบาดของสายพันธุ์นี้ว่าน่าจะมาจากเรื่องจำนวนคนที่ติดเชื้อสายพันธุ์นั้นๆ
พฤติกรรมการป้องกันตัว รวมถึงระดับภูมิคุ้มกันจากวัคซีนที่ใช้และเงื่อนเวลาในการฉีดและกระตุ้น ไม่ใช่แค่เรื่อง “สายพันธุ์” แต่เพียงอย่างเดียว…ยิ่งมีการเดินทางเข้ามาจากต่างประเทศจำนวนมากโดยสัดส่วนติดเชื้อมาก ย่อมส่งผลกระทบตามมาในแง่ความเสี่ยงของการระบาดที่จะปะทุขึ้นในพื้นที่ได้
พุ่งเป้าไปที่ “ความรุนแรงของ BQ.1.1” ข้อมูลจาก UKHSA ได้นำเสนอผลวิเคราะห์เรื่องนี้ โดยเปรียบเทียบผู้ติดเชื้อ BQ.1.1 จำนวน 2,585 คน และที่ติดเชื้อ BA.5 จำนวน 8,112 คน พบว่ามีอาการป่วยรุนแรงจนต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลไม่แตกต่างกันนัก
โดย BQ.1.1 จะมีความเสี่ยงป่วยรุนแรงมากกว่า BA.5 ราว 6% แต่ไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ส่วนเรื่องความรุนแรงของ XBB.1.5 นั้น ยังไม่มีข้อมูล คงต้องคอยติดตามกันอย่างใกล้ชิด
ภาพสะท้อนการระบาดในประเทศ “ญี่ปุ่น”…แนวโน้มการติดเชื้อรายวันชะลอตัวลง แต่จำนวนเสียชีวิตรายวันนั้นยังสูงมาก …การระบาดในญี่ปุ่นนั้นสะท้อนให้ไทยเราจำเป็นต้องระมัดระวัง เพราะตัวขับหลักน่าจะมาจากความแออัดของประชากรและกิจกรรมเดินทางท่องเที่ยว
แม้อัตราการฉีดวัคซีนจะสูง แต่ก็ติดกันมาก ป่วยกันมาก และเสียชีวิตกันมากได้
โดย…ญี่ปุ่นนั้นเป็นกรณีศึกษาที่ชัดเจนว่าระลอกที่ 8 ล่าสุดนั้นหนักกว่าทุกระลอกที่เคยผ่านมาทั้งหมด
ข้อมูลข้างต้นนี้สะท้อนความเป็นจริงที่ว่า…ความเชื่อเรื่องไม่ต้องกังวลเพราะไวรัสอ่อนลง และคนแข็งแกร่งจากภูมิคุ้มกันของวัคซีนหรือเคยติดเชื้อมาก่อนนั้น…“ไม่จริง” จำเป็นต้องป้องกันตัวสม่ำเสมอในสถานการณ์ที่เหยียบคันเร่งเศรษฐกิจโดยอาศัยการท่องเที่ยวที่มีจำนวนคนมาก กิจกรรม สถานที่เสี่ยงที่เพิ่มมากขึ้น
แอบมองสายพันธุ์ที่นำการระบาดในแต่ละประเทศ…โดยรวมแล้วทั่วโลก BQ.1.1 ยังครองสัดส่วนที่สูงสุด และพบว่า XBB.1.5 ที่มีการระบาดขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็วจากอเมริกาไปสู่ 38 ประเทศ
อย่างไรก็ตามมีหลายประเทศที่มีสายพันธุ์ย่อยที่ครองการระบาดในประเทศที่จำเพาะ เช่น ภูมิภาคเอเชีย…อินเดีย XBB, เกาหลีใต้ BN.1.3, ญี่ปุ่น BF.5, จีน BF.7, สิงคโปร์ XBB.1, ฮ่องกง CH.1.1, ฟิลิปปินส์ BA.2.3.20, ภูมิภาคโอเชียเนีย…ออสเตรเลีย XBF, BR.2.1, นิวซีแลนด์ CH.1.1 ภูมิภาคยุโรป…รัสเซีย CL.1
รายงานการระบาด “โควิด–19” ระหว่างวันที่ 7-14 มกราคม 2566 “ประเทศไทย” มีผู้ป่วยนอนโรงพยาบาล 969 ราย…เสียชีวิต 65 ราย สูงกว่าสัปดาห์ก่อน
คาดประมาณติดเชื้อใหม่รายสัปดาห์กว่า 48,000 คน หรือราว 7,000 คนต่อวัน
รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ ฝากคำเตือนย้ำเหมือนเดิมทุกๆครั้งว่า จำเป็นต้องใช้ชีวิตประจำวัน ทำงาน เรียน หรือเดินทางท่องเที่ยวอย่างระมัดระวัง ป้องกันตัวสม่ำเสมอ
“หลังเปิดกิจกรรมท่องเที่ยวเต็มรูปแบบ มีโอกาสที่จะเกิดระบาดปะทุขึ้นได้ ดังที่เห็นจากต่างประเทศ และหากปะทุขึ้นลักษณะที่จะเกิดย่อมขึ้นกับสายพันธุ์ย่อยต่างๆว่าเข้ามาในแต่ละพื้นที่มากน้อยเพียงใดในช่วงเวลานั้น ไม่ว่าจะเป็น BQ.1.1, XBB.1.5, CH.1.1 หรืออื่นๆ”
พลิกแฟ้มข้อมูลวิชาการเกี่ยวกับ “การป่วย” และ “ตาย”
ตั้งแต่ 8 ธันวาคม 2565 เป็นต้นมา หลังจากที่จีนเปลี่ยนมาตรการการควบคุมโรค มีคนเสียชีวิตไปแล้วอย่างน้อย 60,000 คน หรืออย่างน้อย 2,000 คนต่อวัน โดยในช่วง 5 มกราคมที่ผ่านมา มีจำนวนผู้ป่วยที่ต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลสูงสุดถึง 1.6 ล้านคน โดยมีคนที่ป่วยรุนแรง 128,000 คน
ปัจจุบันสายพันธุ์ที่รายงานว่าตรวจพบในประเทศจีนนั้นมีความหลากหลาย แม้ส่วนใหญ่ยังเป็น BF.7.x และ BA.5.x ก็ตาม แต่มีหลายเมืองที่มีสายพันธุ์ที่น่ากังวลอยู่ด้วย ทั้ง BQ.1.x, CH.1.1 รวมถึง XBB.1.5
Leung K และคณะจากประเทศฮ่องกงได้เผยแพร่งานวิจัยในวารสารการแพทย์ Nature Medicine (13 ม.ค.66) โดยทำการศึกษาสถานการณ์ระบาดของประเทศจีน และคาดประมาณว่าในเมืองปักกิ่งนั้น ในช่วงก่อนคริสต์มาสที่ผ่านมา น่าจะมีคนติดเชื้อไปแล้วราวสามในสี่ของประชากรทั้งหมด
คาดว่าจะมีประชาชนติดเชื้อสะสมในสัดส่วนสูงถึง 92.3% ณ ปลายเดือนมกราคม 2566
หน่วยงานควบคุมป้องกันโรคของยุโรป (ECDC) ได้เผยแพร่ผลการประเมินสถานการณ์ระบาดของ XBB.1.5 ระบุว่าปัจจุบัน XBB.1.5 มีอัตราการขยายตัวของการระบาดราว 12% ต่อวันในประเทศสหรัฐอเมริกา โดยมากกว่า BQ.1.1 ราว 2 เท่า และมากกว่า XBB เดิมราว 3 เท่า
วิเคราะห์กันไว้ว่า สมรรถนะการแพร่เชื้อที่รวดเร็วนั้นน่าจะมาจากความสามารถในการจับกับตัวรับ ACE2 ที่ผิวเซลล์เป้าหมายที่มากขึ้น และส่งผลให้มีอัตราการขยายตัวของการระบาดมากขึ้นดังที่เห็น
ทั้งนี้หากเปรียบเทียบ “XBB.1.5” กับ “XBB” แล้ว ประเมินว่าคนที่ติดเชื้อสายพันธุ์ XBB.1.5 จะมีสมรรถนะการแพร่ไปให้คนอื่น (R0) มากกว่า XBB ราว 27-62%
“โควิด–19” ยังคงอยู่กับเรา…การใช้ชีวิตประจำวันจำเป็นต้องมีความระมัดระวัง ไม่ประมาท ป้องกันตัวสม่ำเสมอ การใส่หน้ากากอย่างถูกต้อง จะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้มาก.
อัพเดทข่าว เพิ่มเติม : เตือนฟันผุ อย่าปล่อยไว้ ยกเคสคนไข้ลามติดเชื้อ